Header Ads

กรมชลประทาน’ ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยจันทร์ จ.ศรีสะเกษ

 ‘กรมชลประทาน’ ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยจันทร์ จ.ศรีสะเกษ

เปิดเวทีปัจฉิมรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำยั่งยืน

“กรมชลประทาน” ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยจันทร์ จ.ศรีสะเกษ เปิดเวทีปัจฉิม นำเสนอข้อมูลหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย เดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ก่อนจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับสมบูรณ์ สู่การพัฒนาโครงการ สร้างแหล่งน้ำเพื่อเพาะปลูกตลอดปี วางรากฐานเกษตรยั่งยืน

นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการมอบหมายให้นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ สำนักงานชลประทานที่ 8 เป็นตัวแทนนำคณะผู้บริหารสำนักบริหารโครงการ เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน และบริษัทที่ปรึกษาได้แก่ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีไว พลัส จำกัด บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด และสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดศรีษะเกษ ระหว่างวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อติดตามความคืบหน้าการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยจันทร์ ต.ห้วยจันทร์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบริเวณเชิงเขาพนมดงเร็ก เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับภาคเกษตร และการอุปโภคบริโภค รวมถึงเป็นแหล่งขยายเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ที่สามารถสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่ารอบอ่างเก็บน้ำ รวมถึงการเป็นการบรรเทาอุทกภัย และลดความเสียหายในชีวิตทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำ พร้อมทั้งเป้าหมายการสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวของประชาชนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติในพื้นที่ใกล้เคียง

การศึกษาแผนการพัฒนาโครงการได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2566 เพื่อสร้างความเข้าใจกับชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะมีการเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็นจากการประชุม เพื่อนำไปปรับปรุง และเดินหน้าพัฒนาโครงการต่อไป โดยที่ผ่านมาได้จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่แล้วรวม 3 ครั้ง ซึ่งมีหน่วยงานราชการหลายองค์กรเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และภาคประชาชนที่มีส่วนได้เสีย เพื่อรับฟังแนวทางการศึกษา และความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ เพื่อให้ผลการศึกษาของโครงการสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ผ่านการประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ การศึกษาและดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยจันทร์ จ.ศรีสะเกษ ประกอบด้วย

1. การศึกษาความเหมาะสมโครงการ เพื่อรวบรวมและทบทวนข้อมูลพื้นฐาน ศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาและความจำเป็น เพื่อนำไปสู่การสรุปลักษณะโครงการ ในการออกแบบและการประเมินราคาค่าก่อสร้างเบื้องต้น และวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม

2.การศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การรวบรวมและทบทวนข้อมูลทุติยภูมิ การสำรวจ ตรวจวัด เก็บตัวอย่างคุณภาพสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม

3. การประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ โดยมีการกำหนดพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย การประชุมปฐมนิเทศโครงการ การประชุมกลุ่มย่อย การประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการ และการจัดสื่อสัญจร

“อ่างเก็บน้ำห้วยจันทร์ จะช่วยสนับสนุนภาคเกษตร จากการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เหมาะแก่การปลูกพืชและการผลิตสินค้าเกษตร สามารถใช้น้ำเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี และช่วยสร้างรายได้ครัวเรือนให้เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก และมีผลผลิตต่อปีมากขึ้น” นายจำรัสกล่าว




ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย sololos. ขับเคลื่อนโดย Blogger.