Header Ads

บพท. ขานรับนโยบาย หนุนเสริม มทร.ศรีวิชัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เร่งไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

บพท. ขานรับนโยบาย  หนุนเสริม มทร.ศรีวิชัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก  

เร่งไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง  

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)   

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “สานพลังการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และพร้อมก้าวสู่อนาคต” โดยหนุนเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากงานวิจัยได้ และเปลี่ยนจาก“งานวิจัยขึ้นหิ้ง” เป็น “งานวิจัยขึ้นห้าง” เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ รวมถึงตอบโจทย์ต่อความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาและพัฒนากลุ่มคนฐานราก ซึ่งครอบคลุมทั้งเกษตรกร คนยากจน ผู้ประกอบการในพื้นที่ สอดรับกับนโยบายเร่งด่วนของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่องการนำเทคโนโลยีมายกระดับการทำเกษตรดั้งเดิมให้เป็นเกษตรที่ทันสมัย โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และแนวคิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ภายใต้นโยบายการพัฒนาภาคการผลิตและบริการ ด้วยการส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางโดยเร็ว 

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการ“ขยายผลวิจัยเทคโนโลยีพร้อมใช้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้หนี้ครัวเรือน” ได้ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและนวัตกรรมพร้อมใช้จากทั้ง 2 สถาบัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์ประสิทธิภาพและประสิทธิผลการใช้งานจริงมาแล้ว นำไปต่อยอดขยายผลโดยใช้ประโยชน์ในการเสริมสร้างรายได้ เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจฐานราก 

ในการนี้ นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง อว. ที่ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยนวัตกรรมชุมชน และพัฒนาขีดความสามารถใหม่ของผู้ประกอบการด้านการเกษตรและประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) วิทยาเขตตรัง จังหวัดตรัง ระบุว่า บทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในฐานะ อว.ส่วนหน้าและสถาบันวิชาการในพื้นที่ โดยเฉพาะ มทร.ศรีวิชัยวิทยาเขตตรัง ที่ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดตรัง ด้วยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและพร้อมใช้เข้ามาช่วยพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน  

“การนำเสนอผลการขับเคลื่อนงานนวัตกรรมชุมชนและการนำนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาถ่ายทอดความรู้ให้กับครัวเรือนเกษตรกร ครัวเรือนชนบท ดจะช่วยเพิ่มสมรรถนะในการผลิต สร้างรายได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมในการสร้างประโยชน์ให้สังคมหรือชุมชน ตลอดจนยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดตรัง พร้อมทั้งสร้างเกษตรกรชาวบ้านที่ได้รับการถ่ายอดความรู้ เทคโนโลยี ยอมรับ ปรับเปลี่ยนการใช้ความรู้ เทคโนโลยีในการประกอบอาชีพจนเป็น “นวัตกรชุมชน” จากฐานงานวิจัย และสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับไปยังเกษตรกรและผู้สนใจให้สามารถนำไปใช้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ” 

ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของหน่วย บพท. เกี่ยวกับการสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ คือ การขยายผลการทำงานร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏไปสู่การทำงานกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ เพื่อนำงานวิจัยเข้ามาพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่มีศักยภาพให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง 

ภายใต้แนวคิด 4 จุดคานงัด ซึ่งประกอบด้วย 1. การเข้าถึงทุนและโครงสร้างพื้นฐาน 2. การเข้าถึงตลาดและการแข่งขัน 3. การเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4. การเรียนรู้ของชุมชนและนักวิจัยที่ต้องปรับกระบวนทัศน์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวคิดของ 4 จุดคานงัด จะนำไปสู่การผลิต “นวัตกรชุมชน” ที่มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

“การใช้นวัตกรรมเข้ามาหนุนเสริมการทำงานในพื้นที่ภายใต้บริบทของชุมชนยึดแนวคิดที่ว่า นวัตกรรมนั้นตอบโจทย์พื้นที่ ชาวบ้านสามารถใช้งานง่าย มีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพง และบำรุงรักษาได้เอง ซึ่งการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักวิจัยและปราชญ์ชุมชน ทำให้เกิด Learning Outcome ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผลลัพธ์การทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ ที่มีประสิทธิภาพและเกิดนวัตกรชุมชนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการบ่มเพาะและเสริมสร้างศักยภาพ ไม่เพียงจะช่วยให้ชุมชนเติบโต แต่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาประเทศในระยะยาว” 

นอกจากนี้ ดร.กิตติ ยังระบุว่า โจทย์การขับเคลื่อนงานของหน่วย บพท. คือ การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยมีเป้าหมายปลายทาง คือ การทำให้ครัวเรือนที่เป็นหน่วยผลิตที่เล็กที่สุด สามารถเข้าถึงระบบเศรษฐกิจมหภาคได้อย่างยั่งยืน 

สำหรับ มทร.ศรีวิชัย มีการทำงานร่วมกับหน่วย บพท. มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้แผนงานชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน แผนงาน Local Enterprise และการขยาย Appropriate Technology ใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ พัทลุง สตูล และปัตตานี โดยมุ่งเน้นใน 4 มิติหลัก ได้แก่ การท่องเที่ยว การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอันดามันเมืองอัจฉริยะ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการเติบโตของชุมชน ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ผู้ประกอบการ ชุมชนระดับตำบล จนถึงระดับเมือง โดยสามารถขยายผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์และยกระดับขีดความสามารถของชุมชนและผู้ประกอบการ เกิดชุมชนนวัตกรรมได้มากถึง 30 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 20 ตำบล ของ 7 อำเภอในจังหวัดตรัง  เกิดการสร้างนวัตกรชุมชน ที่เป็นผู้รับ ปรับใช้ และขยายผลงานวิจัย ได้มากกว่า 2,000 ครัวเรือน และสามารถสนับสนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยนำนวัตกรรมพร้อมใช้ไปช่วยแก้ไขปัญหาที่สำคัญของชุมชน ได้มากกว่า 50 นวัตกรรม รวมทั้งช่วยยกระดับอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากและมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 ซึ่งอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่การพัฒนาขยายตัวของเศรษฐกิจเท่านั้นแต่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในมิติต่างๆ ให้เกิดความยั่งยืน 



ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย sololos. ขับเคลื่อนโดย Blogger.